Skip links

วัยทำงานเสี่ยงแค่ไหน โรคหลอดเลือดหัวใจ

 

หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวของคนที่อยู่ ๆ ก็ล้มฟุบเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน หรือขณะออกกำลังกาย เหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นปุบปับแบบนี้อาจมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจก็เป็นได้  

โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากผนังหลอดเลือดแดงแข็งจากการสะสมของไขมัน หินปูนและเซลล์ต่าง ๆ  
ที่ผนังด้านในของหลอดเลือด กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และมักเกิดกับคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL สูงกว่าปกติ โดยเมื่อผนังหลอดเลือดแข็งตัวก็จะเกิดรอยบาดแผลหรือฉีกขาดได้ง่าย ร่างกายก็จะสร้างลิ่มเลือดมาอุดบริเวณรอยแผลทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นอุดตัน  

โรคหลอดเลือดหัวใจที่พบในปัจจุบันมีหลากหลายกลุ่ม ทั้งเป็นโรคตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลังสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีนิสัยการกินที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรค ส่งผลให้คนอายุในช่วง 30-35 ปีก็สามารถเป็นโรคนี้กันได้ ดังนั้นการรู้จักความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคและวิธีป้องกันจะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคได้   

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงก่อโรคหลอดเลือดหัวใจ 

  • เพศชายมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตามเพศหญิงจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในวัยหมดประจำเดือน 
  • พันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก็จะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่ไม่มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ 
  • อายุ โดยมักเกิดกับเพศชายอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป 
  • ภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ 
  • ภาวะไขมันในเลือดสูง เนื่องจากคอเลสเตอรอลชนิด LDL เป็นตัวการที่ปิดกั้นหลอดเลือดหัวใจ 
  • การสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ในควันบุหรี่ส่งผลให้หัวใจเกิดความเครียด มีอัตราการเต้นที่เร็วขึ้นในขณะพัก ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มหรือก้อนอีกด้วย 
  • โรคเบาหวาน การมีระดับน้ำตาลสูงหรือควบคุมไม่ได้เป็นเวลานานจะเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเร็วขึ้น 

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ 
จากปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจจะเห็นว่าส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ 
บั่นทอนการมีสุขภาพที่ดี การปรับพฤติกรรมเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างสุขภาพกายใจให้แข็งแรง มีส่วนช่วยป้องกันภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ พฤติกรรมดังกล่าว เช่น 

  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ 
  • ทานผักผลไม้เป็นประจำ 
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 
  • ไม่สูบบุหรี่ 
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ทำจิตใจให้สดชื่น ไม่เครียดบ่อย 
  • ตรวจวัดความดันโลหิต เจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด 

วิธีการรักษา 

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ดังนี้ 

  1. การรักษาด้วยยา เพื่อลดความดันโลหิตหรือขยายหลอดเลือดเพื่อให้การไหลเวียนและการสูบฉีดเลือดในหัวใจดีขึ้น 
  1. การผ่าตัดหลอดเลือดจากบริเวณอื่นไปทำหน้าที่แทนหลอดเลือดหัวใจช่วงที่อุดตัน หรือ บายพาส เป็นการสร้างทางเดินเลือดเส้นใหม่ แพทย์จะนำหลอดเลือดดำที่ขาหรือหลอดเลือดแดงที่ผนังหน้าอกมาตัดต่อกับหลอดเลือดที่อุดตันเพื่อทำทางเดินของเลือดใหม่เลี่ยงเส้นทางที่อุดตัน 
  1. การขยายหลอดเลือดหัวใจ มี 3 แบบ 
  • การบอลลูน เป็นการดันคราบไขมันที่อุดตันในหลอดเลือดให้กลับไปติดกับผนังหลอดเลือด 
  • การใช้แสงเลเซอร์ คือการใช้แสงอัลตราไวโอเลตสลายคราบไขมันหรือหินปูนที่ 
    อุดตันบริเวณผนังหลอดเลือด สิ่งอุดตันจะถูกสลายจนมีขนาดเล็กมากและถูกกำจัดออกจากร่างกาย 
  • การใช้หัวกรอ ใช้ในกรณีที่มีไขมันหรือหินปูนเกาะตัวหนาแน่นมากหรือมีรอยตีบยาวและไม่สามารถใช้บอลลูนได้ หรือกรณีที่เส้นเลือดมีขนาดเล็ก สิ่งอุดตันจะถูกสลายจนมีขนาดเล็กมากและถูกกำจัดออกจากร่างกาย 

 แต่หากเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ จำเป็นต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง การสมัครเฮลท์ลิงก์ (Health Link) เชื่อมข้อมูลสุขภาพไว้ในระบบออนไลน์เป็นวิธีหนึ่งที่เพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลทุกที่ที่เข้าร่วมโครงการ ท่านจะได้รับการดูแลรักษาโดยไม่ต้องรอ ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการขอประวัติผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเดิมอีกต่อไป หากเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือจำเป็นต้องรับยาตามกำหนดแต่ไม่สะดวกไปรับจากโรงพยาบาลเดิม สามารถพบแพทย์และใช้บริการในโรงพยาบาลใหม่ได้ทันทีเพราะมีประวัติการรักษาเชื่อมต่อข้อมูลไว้แล้ว แพทย์สามารถวินิจฉัยและจ่ายยาเดิมที่เคยรับประทานให้ได้    

👍🏽อย่าลืมกดติดตามเพจ Health Link ไม่พลาดทุกความรู้สุขภาพ : https://www.facebook.com/healthlink.go.th/ 

เพิ่มเพื่อนไว้อุ่นใจเสมอ ปรึกษาสอบถามเกี่ยวกับเฮลท์ลิงก์ได้ที่ Line : @healthlink 
 
#HealthLink#เฮลท์ลิงก์#เชื่อมต่อการรักษาทุกที่ทั่วไทย#GBDi#โรคหลอดเลือดหัวใจ#เป๋าตัง 

ขอบคุณข้อมูลจาก 

ยูทูปแชนแนล Doctor Tany  

โรงพยาบาลพญาไท 3 

โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ 

โรงพยาบาลรามาธิบดี