Skip links

มะเร็งปอด ภัยร้ายในอากาศ

 

มะเร็งเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด สถิติปี พ.ศ. 2562 พบว่ามีคนไทยเป็นโรคมะเร็งทุกชนิดรวมกัน 139,206 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิต 84,073 คนต่อปี โดยโรคมะเร็งที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก 

มะเร็งปอดจึงถือเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่เราต้องระมัดระวังเพราะต้นตอของโรคมาจากสิ่งปนเปื้อนในอากาศที่เราหายใจเข้าไป และตามสถิติมีผู้ป่วยมะเร็งปอดในประเทศไทยถึงปีละ 17,222 คน และจากโรคมะเร็งทั้งหมด มะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย แต่การตรวจคัดกรองให้พบโรคในระยะแรกทำได้ยาก และมีอัตราการตายสูง สาเหตุสำคัญของโรคนี้มาจากสภาวะใกล้ตัว เช่น การสูบบุหรี่รวมถึงยาเส้นมวน  
ควันบุหรี่มือสอง แร่ใยหิน และฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 

ความน่ากลัวของโรคนี้คือต้นตอของโรคมักจะแฝงตัวอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าออกอยู่ทุกวัน บางอย่างเราอาจหลีกเลี่ยงได้แต่บางอย่างก็ทำไม่ได้ เช่น ควันบุหรี่มือสองในบ้านเรือนที่นอกจากผู้สูบบุหรี่จะเสี่ยงแล้วยังแบ่งอันตรายให้กับผู้ที่ไม่ได้สูบไปด้วย องค์การอนามัยโลกระบุว่าบุหรี่ทำให้คนบนโลกเสียชีวิตถึงปีละ 8 ล้านคน  
และในจำนวนนี้มี 1.2 ล้านคน เป็นผู้ที่สัมผัสกับควันบุหรี่มือสอง ที่น่าตกใจคือมีการประเมินกันว่าควันบุหรี่มือสองคร่าชีวิตเด็กทั่วโลกไปถึง 65,000 คนต่อปี 

มะเร็งปอดเกิดจากการรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดม วิธีป้องกันคือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ดังนี้ 

  • หยุดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ 
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ ๆ มีมลพิษทางอากาศสูง เช่น สถานที่มีฝุ่นควันมาก หรือการทำงานในเหมืองแร่โดยไม่มีเครื่องมือป้องกันตนเอง 
  • อยู่ในที่ ๆ มีอากาศบริสุทธิ์ 
  • หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ 
  • ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ 

อาการทางระบบทางเดินหายใจ  

  • ไอเรื้อรัง อาจมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้ 
  • ไอเป็นเลือด 
  • หอบเหนื่อย หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ 
  • ปอดอักเสบ 
  • มีไข้ 

อาการของระบบอื่น ๆ 

  • เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • บวมที่หน้า แขน คอ และทรวงอกส่วนบน 
  • เสียงแหบ 
  • ปวดกระดูก 
  • กลืนลำบาก 
  • อัมพาต 
  • มีตุ่มหรือก้อนขึ้นตามผิวหนัง 
    **โดยอาการเหล่านี้อาจไม่ได้ชี้เฉพาะว่าจะป่วยเป็นมะเร็งปอด ผู้มีอาการควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นร่วมด้วย** 

แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็นโรคมะเร็งปอด แต่หากเป็นแล้วอย่ากังวลเพราะปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ โดยวิธีการรักษามะเร็งมีดังนี้ 

  1. การผ่าตัด ใช้สำหรับมะเร็งระยะแรกที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปไกล และไม่มีการลุกลามไปที่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เป็นทางเลือกก่อนพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่น ๆ 
  1. การฉายรังสี สามารถใช้ได้ในหลายกรณี อาทิ ใช้กับผู้ป่วยในรายที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ ผู้ป่วยในระยะลุกลามเฉพาะที่ ใช้รักษาเสริมก่อนหรือหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยระยะที่ 3 ใช้รักษาแบบประคับประคองในรายที่เป็นระยะลุกลาม และใช้เพื่อป้องกันการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น 
  1. การให้ยาเคมีบำบัด แพทย์จะพิจารณาใช้วิธีนี้ภายหลังจากการผ่าตัด โดยจะใช้ร่วมกับการฉายแสงเพื่อรักษามะเร็งระยะลุกลามเฉพาะที่ เพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งให้เล็กลงก่อนพิจารณาการรักษาอื่น ๆ ต่อในมะเร็งระยะที่ 3 เพื่อรักษาประคับประคองโรคในระยะลุกลาม 
  1. การรักษาโดยให้ยามุ่งทำลายเซลล์มะเร็ง เป็นการรักษาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ตัวมะเร็งเป็นหลัก มีผลต่อเซลล์ปกติเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ต้องมีการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนก่อน หากพบความผิดปกติจึงจะใช้ยาในกลุ่มนี้ได้ 
  1. การรักษาโดยใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการรักษามะเร็งแนวทางล่าสุด โดยใช้ยาไปกระตุ้นภูมิต้านทาน 
    ของร่างกายให้มาทำลายเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการใช้ยาของผู้ป่วย 
    แต่ละราย 

โรคมะเร็งเป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยหลายรายต้องเปลี่ยนหรือย้ายโรงพยาบาลตามความจำเป็นต่าง ๆ หรือเพื่อไปใช้สิทธิการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ บางรายต้องใช้เวลารอส่งต่อข้อมูลการรักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลทำให้การรักษาพยาบาลขาดช่วง บางคนมีข้อมูลการตรวจคัดกรองมะเร็งจากโรงพยาบาลเดิม หากสมัครใช้บริการเฮลท์ลิงก์ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลของเราไว้ในระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะไปรับบริการที่โรงพยาบาลใด แพทย์ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่เชื่อมโยงไว้ได้ทันท่วงที ช่วยให้การรักษาพยาบาลทำได้อย่างต่อเนื่อง 

สมัครใช้บริการเฮลท์ลิงก์ได้ทุกวันทุกที่ทุกเวลาผ่านแอปฯ เป๋าตังในโทรศัพท์มือถือของคุณ สมัครเลยคลิก http://bit.ly/3ubZpzD 
 
เพิ่มเพื่อนไว้อุ่นใจเสมอ ปรึกษาสอบถามเกี่ยวกับเฮลท์ลิงก์ได้ที่ Line : @healthlink 
 
#HealthLink#เฮลท์ลิงก์#เชื่อมต่อการรักษาทุกที่ทั่วไทย#GBDi#มะเร็งปอด#ฝุ่นPM2.5 #ควันบุหรี่มือสอง 

ขอบคุณข้อมูล 

– โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ 

– สำนักงานสถิติแห่งชาติ 

– สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 

– กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข 

– เว็บไซต์พีพีทีวี36 

– โรงพยาบาลพรินซ์ สุวรรณภูมิ